top of page

ภาษาต่างประเทศ

ภาษาต่างประเทศ คือภาษาอื่น ๆ ที่บุคคลหนึ่งไม่ได้ใช้สื่อสารพูดคุยในเวลาปกติ สำหรับผู้ที่ใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งหรือมากกว่าเป็นหลัก จะถือว่าภาษาอื่นเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่เพียงเฉพาะภาษาอังกฤษที่อาจนับเป็นภาษาต่างประเทศตามความหมายข้างต้น แต่ก็ยังมีรูปแบบอื่นของภาษาต่างประเทศด้วย เช่นภาษาญี่ปุ่นโบราณถือเป็นภาษาต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น เพราะไม่ได้ใช้สื่อสารในเวลาปกติ ภาษาต่างประเทศยังหมายถึงภาษาที่มิใช่ภาษาประจำประเทศบ้านเกิดของผู้ที่กล่าวถึง เช่นผู้ที่พูดภาษาอังกฤษแต่ไปอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น อาจกล่าวได้ว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาต่างประเทศของบุคคลนั้น อย่างไรก็ดีคำอธิบายดังกล่าวก็ไม่ได้ครอบคลุมความหมายทั้งหมดของคำว่าภาษาต่างประเทศ และการแบ่งประเภทเช่นนี้ก็มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่มาก

เด็กบางคนอาจเรียนรู้มากกว่าหนึ่งภาษาตั้งแต่เกิดหรือตั้งแต่อายุยังน้อย เด็กกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มบุคคลสองภาษาหรือหลายภาษา ซึ่งมีภาษาแม่หลายภาษา และไม่มีภาษาใดที่เป็นภาษาต่างประเทศสำหรับพวกเขาเลย แม้ว่าภาษาเหล่านั้นอาจเป็นภาษาต่างประเทศสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศที่เด็กเกิดก็ตาม

คำภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ

จากสาเหตุข้างต้น ไทยได้ยืมคำภาษาต่าง ๆ เข้ามาใช้ปะปนในภาษาไทยหลายภาษาด้วยกัน ดังนี้

  • บาลี กัญญา ขัตติยะ วิชา สันติ อิตถี

  • สันสกฤต บริษัท โฆษณา ประกาศ ภรรยา แพทย์

  • จีน ก๋วยเตี๋ยว ซาลาเปา เต้าฮวย บะหมี่ ลิ้นจี่

  • อังกฤษ กอล์ฟ โปรตีน คลินิก ฟอสฟอรัส นิวเคลี์ยร

  • เขมร กังวล ถนน บำเพ็ญ เผด็จ เสวย

  • ชวา-มลายู กริช กระดังงา ซ่าหริ่ม ปาหนัน อังกะลุง อุรังอุตัง

  • เปอร์เซีย กุหลาบ คาราวาน ตราชู บัดกรี สักหลาด

  • โปรตุเกส กะละแม กะละมัง สบู่ เลหลัง ปิ่นโต

  • ฝรั่งเศส กงสุล ครัวซองต์ คูปอง แชมเปญ บุฟเฟ่ต์

  • ญี่ปุ่นกิโมโน คาราเต้ ซูโม ยูโด สุกี้ยากี้

  • ทมิฬ กะไหล่ กุลี กานพลู กำมะหยี่ อาจาด

  • อาหรับ กะลาสี การบูร กั้นหยั่น กะไหล่ ฝิ่น

  • มอญ มะ เม้ย เปิงมาง พลาย ประเคน

  • พม่า หม่อง กะปิ ส่วย

ภาษาที่มีใช้ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก คือ ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร จีน อังกฤษ โดยเฉพาะภาษาบาลี สันสกฤต เขมร จีน ไทยนำมาใช้และมีการเปลี่ยนแปลงรูปคำจนดูกลมกลืนกับภาษาไทยแทบจะจำแนกไม่ได้ว่าเป็นคำมาจากภาษาอื่น

 

 สาเหตุที่ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย

 

การติดต่อสัมพันธ์กันทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทย ด้วยสาเหตุหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้

 

สภาพภูมิศาสตร์ คือ ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ได้แก่ พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย จึงทำให้คนไทยที่อยู่อาศัยบริเวณชายแดนเดินทางข้ามแดนไปมาหาสู่กันและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงมีการแลกเปลี่ยนภาษากัน เช่น คนไทยที่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ ก็จะสามารถสื่อสารด้วยภาษาเขมรได้ คนไทยที่อยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา รับเอาภาษามาลายูเข้ามาใช้ เป็นต้น 

 

ประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการอพยพโยกย้ายของคนไทยเข้ามาอยู่ในถิ่นอาศัยปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมมีชนชาติอื่นอาศัยอยู่ก่อน เช่น เขมร ละว้า มอญ หรือมีการทำศึกสงครามกับชนชาติอื่น มีการกวาดต้อนเชลยศึกและประชาชน พลเมืองชนชาติอื่น ๆ ให้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้คนเหล่านี้ได้นำถ้อยคำภาษาเดิมของตนเองมาใช้ปะปนกับภาษาไทยด้วย 

 

ศาสนา คนไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามาเป็นเวลาช้านาน เมื่อนับถือศาสนาใดก็ย่อมได้รับถ้อยคำภาษาที่ใช้ในคำสอน หรือคำเรียกชื่อต่าง ๆ ในทางศาสนาของศาสนานั้น ๆ มาปะปนอยู่ในภาษาไทยด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต ศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลี ศาสนาอิสลามใช้ภาษาอาหรับ และศาสนาคริสต์ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ ในทางศาสนาก็จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยด้วย 

 

การค้าขาย จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยมีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนชาติต่าง ๆ มาเป็นเวลาอันยาวนาน เช่น ชาวจีน ชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา ตลอดถึงญี่ปุ่น ทำให้มีถ้อยคำในภาษาของชนชาตินั้น ๆ เข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ตลอดเวลาไม่มีวันสิ้นสุด 

 

วรรณคดี วรรณคดีอินเดียที่ไทยนำเข้ามา เช่น เรื่องมหากาพย์รามายณะ และ มหาภารตะ แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต อิเหนา เป็นวรรณคดีที่มีเค้าเรื่องมาจากเรื่องดาหลังของชวา ด้วยเหตุนี้วรรณคดีทำให้ภาษาสันสกฤตและภาษาชวาเข้ามาปะปนในภาษาไทย 

 

ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี เมื่อชนชาติต่าง ๆ เข้ามาสัมพันธ์ติดต่อกับชนชาติไทย หรือเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย ย่อมนำเอาวัฒนธรรมและประเพณีที่เคยยึดถือปฏิบัติอยู่ในสังคมเดิมของตนมาประพฤติปฏิบัติในสังคมไทย นาน ๆ เข้าถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประเพณีเหล่านั้น ก็กลายมาเป็นถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น 

 

การศึกษาและวิทยาการด้านต่าง ๆ จากการที่คนไทยเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ ทำให้ได้ใช้และพูดภาษาอื่น ๆ และรับเอาวิทยาการต่าง ๆ เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงนำภาษาของประเทศนั้นมาใช้ปะปนกับภาษาของตน เช่น ภาษาอังกฤษ ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนและมาตรฐานสากล โดยการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนและภาษาที่สามารถสื่อสารกันในสากลโลก ดังนั้นการหลั่งไหลของภาษาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น 

 

ความสัมพันธ์ทางการทูต การเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต ในการอพยพ โยกย้ายหรือในการติดต่อทางการทูต ย่อมทำให้ภาษาของเจ้าของถิ่นเดิมหรือผู้อพยพโยกย้ายมาใหม่นำมาใช้ร่วมกัน เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส 

 

อพยพย้ายถิ่นฐาน การอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น สภาพเศรษฐกิจต้องไปประกอบอาชีพยังประเทศต่าง ๆ ภัยสงคราม การเมืองการปกครอง

 

คำยืมที่มาจากภาษาสันสกฤต

 

ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาตระกูลวิภัตติปัจจัย มีรูปคำสละสลวย ไพเราะ นิยมใช้เป็นคำราชาศัพท์ ภาษาในวรรณคดี ชื่อบุคคล และสถานที่ เป็นต้น

ข้อสังเกตและตัวอย่างคำภาษาสันสกฤต นิยมใช้ ฑ เช่น กรีฑา จุฑา ครุฑ ไพฑูรย์ วิฑาร เป็นต้น

นิยมใช้ ร หัน เช่น กรรณ ขรรค์ ครรภ์ ธรรม พรรษา บรรพต วรรค วรรณะ มหัศจรรย์ สรรพ สวรรค์ สุวรรณ อัศจรรย์ เป็นต้น

นิยมมีอักษรควบกล้ำ เช่น กษัตริย์ เกษตร ตรุษ บุตร ปราชญ์ ปรารถนา พฤกษ์ เนตร ไมตรี ศาสตรา อาทิตย์ เป็นต้น

ใช้ ศ ษ ประสมคำเป็นส่วนมาก เช่น กษัย เกษม เกษียณ ทักษิณ ทัศนีย์ บุษกร บุรุษ เพศ ภิกษุ มนุษย์ วิเศษ ศิลปะ ศิษย์ ศึกษา ศุกร์ ศูนย์ เศียร อักษร อัธยาศัย เป็นต้น ใช้ ส นำหน้าพยัญชนะวรรค ตะ (ต ถ ท ธ น) เช่น พัสดุ พิสดาร สตรี สถาน สถิต สถิติ สถาปนา สนธยา สัตย์ สันโดษ อัสดง เป็นต้น

ประสมด้วยสระ ไอ เอา ฤ ฤ ๅ ฦ ฦ ๅ เช่น ไศล ไศวะ ไวทย์ ไวษณพ ไวยากรณ์ ไวศฺย ไอราวัณ ไอยรา เกาศัย เอารส ฤดี ฤทัย ฤทธิ์ ฤๅษี กฤษณา พฤติกรรม พฤษภาคม ทฤษฎี นฤมล มฤตยู ฦๅชา ฦๅสาย เป็นต้น

มีหลักเกณฑ์ตัวสะกด ตัวตามไม่แน่นอน กัลป์ การบูร กีรติ โกรธ จักร จันทรา ดัสกร ทรัพย์ นิตยา ประพันธ์ ประพฤติ พยายาม ลักษณะ วิทยุ มนตรี มัตสยา มัธยม ศัพท์ ศาสนา ศาสตรา อาชญา อาตมา อาจารย์ อุทยาน เป็นต้น

ตัวอย่างคำภาษาสันสกฤต 

 

กัลบก กรรณ กรรม กษัตริย์ กัลป์ การบูร กีรติ โกรธ กรีฑา เกษม กษัย เกษียณ เกษียร เกษตร ครรชิต ครรภ์ จักร จักรวาล จันทรา จุฑา ดัสกร ทรมาน ทรัพย์ ทฤษฎี ทิศ ทหาร กษิณ ทัศนีย์ ทิพย์ นักษัตร นมัสการ นาที นฤคหิต นิตยา นิทรา นฤมล เนตร บุษบา บรรพต บุษกร บุรุษ ประเทศ ประทีป ประพันธ์ ประพฤติ ประเวณี ประมาท ประโยค ประถม ภักษา ภิกษุ มฤตยู มนุษย์ มนัส มารุต มิตร มนตรี ไมตรี มหัศจรรย์ ยักษา ลักษณะ วรรค วรรณะ วัสดุ พรรษา พยายาม พฤศจิกายน วิทยุ พิสดาร วิเศษ เพศ ศัพท์ ศาสนา ศาสตรา ศึกษา ศิลปะ ศิษย์ ศุกร์ ศูนย์ ศรี เศียร สัตย์ สันโดษ สมปฤดี สตรี สวรรค์ สรรพ สุวรรณ สถาปนา สดุดี สกล สกุล อักษร อาตมา อัศจรรย์ อัธยาศัย อารยะ อวกาศ อาจารย์ อาทิตย์ อุทยาน 

bottom of page